ปี 2564-2566 คาดว่าอุตสาหกรรมเอทานอลจะเติบโตต่อเนื่องตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจาก 1) แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินเกรดพื้นฐานภายในปี 2566 2) แนวโน้มการขยายตัวของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) คาดว่าจะอยู่ที่อัตราเฉลี่ย 2.4-3.6% ต่อปี และ 3) จำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี โดยผู้ประกอบการที่มีห่วงโซ่การผลิตเอทานอลที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงจัดจำหน่าย จะมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านความไม่เพียงพอของวัตถุดิบ และราคาวัตถุดิบที่มีทิศทางปรับสูงขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ
ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล: คาดว่ารายได้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน โดยโรงงานผลิตเอทานอลที่ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาลจะมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า จึงได้รับแรงกดดันน้อยกว่าผู้ประกอบรายย่อยซึ่งมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และมีต้นทุนสูงกว่า
ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง: คาดว่ารายได้จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาจมีความผันผวนตามความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น (อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และอาหารสัตว์) และเพื่อส่งออก ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอกับความต้องการและต้นทุนวัตถุดิบอาจปรับสูงขึ้นเป็นระยะ ปัจจัยข้างต้นจะกดดันมาร์จินของผู้ประกอบการ
[1]ทดแทนสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซิน หรือ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether)
[2]น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 คือ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอลในอัตราส่วน 10% ได้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ออกเทน 91 และออกเทน 95 มีคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องยนต์เช่นเดียวกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 และเบนซินออกเทน 95
[3]ราคาขายเอทานอลในประเทศ คำนวณจากราคาเอทานอลอ้างอิง บวกค่าการตลาด 1.5-2.0 บาทต่อลิตร
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก krungsri.com By Aphinya Khanunthong